Welcome to Q4wahabi.com (Question for Wahabi). Please login or sign up.

ธันวาคม 22, 2024, 02:17:09 หลังเที่ยง

Login with username, password and session length
สมาชิก
  • สมาชิกทั้งหมด: 1,718
  • Latest: Haroldsmolo
Stats
  • กระทู้ทั้งหมด: 3,699
  • หัวข้อทั้งหมด: 778
  • Online today: 102
  • Online ever: 200
  • (กันยายน 14, 2024, 01:02:03 ก่อนเที่ยง)
ผู้ใช้ออนไลน์
Users: 0
Guests: 88
Total: 88

สหรัฐฯ : แบ่งแยกซุนนี่ - ชีอะฮ์ซะ แล้วยึดอิรัก

เริ่มโดย L-umar, กุมภาพันธ์ 26, 2010, 03:18:37 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

L-umar

บทความ เนื้อเรื่อง หรือ คำอธิบาย โดยละเอียด


การตอบโต้กันระหว่างฝ่ายทั้งสองนับวันยิ่งรุนแรงขึ้นถึงขนาดที่ว่า วันที่ 23 พฤศจิกายน 2006 เพียงวันเดียว ก็ทำให้ชาวชีอะห์เสียชีวิตจากการถูกโจมตีโดยระเบิดพลีชีพที่อ้างว่าเป็นฝีมือของฝ่ายสุหนี่ถึง 202 คน หลังจากนั้นฝ่ายชีอะห์จึงตอบโต้ทันทีโดยการฆ่าหมู่มุสลิมสุหนี่จำนวน 18 คน ความจริง การต่อสู้กันระหว่างฝ่ายทั้งสองเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เหตุการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อมีการระเบิดมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ของชาวชีอะห์ในเมืองสะมัรเราะห์ (Samarra) เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2006 ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าอิรักกำลังจะเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยการนองเลือดในอนาคตอันใกล้นี้ คำถามคือ อะไรคือต้นเหตุใหญ่ของความรุนแรงที่เกิดขึ้น? หรือมันเป็นเพราะรากเหง้าความแตกแยกระหว่างฝ่ายสุหนี่กับชีอะห์ที่ปรากฏให้เห็นตั้งแต่การเริ่มต้นของประวัติศาสตร์อิสลาม? หรือมันเป็นเพราะผลพวงจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในอิรักเอง ซึ่งเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้? จริงอยู่ ความแตกแยกในโลกมุสลิมเกิดขึ้นครั้งแรกจากปัญหาเรื่องผู้นำระหว่างกลุ่มที่เห็นว่า คอลีฟะฮุ หรือผู้นำมุสลิมทั้งหมด (หลังการเสียชีวิตของท่านศาสนทูตมูฮัมมัด) ไม่จำเป็นต้องมาจากครอบครัวของท่านศาสนทูต อาจเป็นใครก็ได้ที่มีคุณวุฒิเหมาะสม กับอีกกลุ่มที่เชื่อว่า ผู้นำมุสลิมนั้นต้องเป็นทายาทหรือผู้สืบเชื้อสายมาจากท่านศาสนทูตโดยตรง เริ่มต้นจากท่าน อาลี อิบนุ ตอลิบ (Ali lbn Talib) ฉะนั้น กลุ่มแรกจึงเป็นที่รู้จักกันต่อมาภายหลังว่า กลุ่มซุนนะห์ วัล-ญะมาอะฮุ หรือสุหนี่ในขณะที่กลุ่มหลังต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนามกลุ่มซีอะห์ ความแตกแยกระหว่างสองกลุ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นเมื่อท่านอาลีถูกฆาตกรรมในปี 661 สถานการณ์ความแตกแยกยิ่งเลวร้ายลงไปอีกจากพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างหลากหลายในโลกมุสลิมเอง กรณีนี้ดูได้จากการแย่งชิงอำนาจและอิทธิพลระหว่างราชวงศ์สะฟาวิด (Safavid Empire) ของอิหร่านกับอาณาจักรออตโตมานของตุรกีในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 16-17 การแย่งชิงอำนาจระหว่างกันดังกล่าวมีผลโดยตรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างสุหนี่-ซีอะห์ในอิรัก ราชวงศ์สะฟาวิดซึ่งประกาศให้อิสลามสายชีอะห์เป็นศาสนาทางการของอิหร่าน พยายามแทรกตัวเข้ามาควบคุมอิรัก เหตุผลหลักเป็นเพราะอิรักมีสถานที่สำคัญทางศาสนาสำหรับชาวชีอะห์มากมายทั้งในเมืองนาจัฟ และกัรบาลาอุ ในขณะเดียวกัน อาณาจักรออตโตมานซึ่งเป็นมุสลิมสายสุหนี่ก็กลัวการขยายตัวของพวกชีอะห์ที่อาจเข้าไปในอนาโตเลียหรือ เอเชียน้อย (Asia Minor) ที่สำคัญคือออตโตมานต้องการให้อิรักอยู่ในสถานะรัฐกันชน (Buffer State) เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม อิรักซึ่งขณะนั้นรู้จักกันในชื่อ เมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) ตกไปอยู่ภายใต้การครอบครองของราชวงศ์สะฟาวิดก่อนในช่วงต้นของศตวรรษที่ 16 ต่อมาจึงถูกยึดครองโดยฝ่ายออตโตมาน ราชวงศ์สะฟาวิดสามารถยึดคืนมาได้อีกครั้ง แต่ท้ายที่สุดอาณาจักรออตโตมานก็สามารถยึดกลับคืนมาในยุคสมัยของมูรอตที่ 4 ในปี 1638 นับจากนั้นเป็นต้นมาอิรักจึงอยู่ภายใต้การปกครองของออตโตมานมาตลอด จนกระทั่งถึงช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ช่วงเวลาดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่มุสลิมสุหนี่ซึ่งถือเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีประชากรในขณะนั้นเพียงร้อยละ 20 เข้าไปปกครองมุสลิมชีอะห์ที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ แน่นอนสิ่งที่ตามมาคือ การที่ผู้ปกครองฝ่ายสุหนี่เลือกปฏิบัติต่อฝ่ายชีอะห์ ทำให้ความแตกแยกระหว่างสุหนี่และชีอะห์ในอิรักยิ่งเลวร้ายลง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้มีหลักฐานใดๆ ที่ชี้ว่าประชาชนชาวชีอะห์จะถูกฆ่าหมู่โดยเหล่าผู้ปกครองของอาณาจักรออตโตมานแม้แต่ครั้งเดียว แม้แต่ภายหลังที่จักรวรรดิอังกฤษยัดเยียดความเป็นดินแดนใต้อาณานิคมให้อิรักตามเงื่อนไขของข้อตกลงไซเกส-ปิกอท (Sykes-Picot Agreement) ในปี 1916 ก็ปรากฏว่าไม่มีบันทึกของการวางแผนให้เกิดความรุนแรงระหว่างกลุ่มสุหนี่กับชีอะห์ ถึงแม้ว่าความเป็นปรปักษ์ระหว่างกันจะยังคงแฝงเร้นอยู่ก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างสุหนี่-ชีอะห์ในอิรักเป็นเช่นนี้เรื่อยมาไม่เปลี่ยนแปลงจากยุคที่อิรักได้รับอิสรภาพไปจนถึงสมัยการปกครองโดยราชวงศ์กษัตริย์ จนอำนาจเปลี่ยนมือไปเป็นของพรรคสังคมนิยมบาอัท (Baathish) ในเวลาต่อมา แม้แต่ในยุคเผด็จการของซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ปราบปรามกลุ่มฝ่ายค้านอย่างหนัก ฝ่ายสุหนี่ที่ต่อต้านรัฐก็ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงเท่าๆ กับชาวเคิร์ดและชาวชีอะห์ แต่ก็ไม่มีประวัติการนองเลือดระหว่างสุหนี่-ชีอะห์ เลยแม้แต่ครั้งเดียว ในทางตรงข้าม สุหนี่-ชีอะห์ ในอิรักกลับเคยเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันในหลายๆ โอกาส เช่น ในปี 1920 ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนชาวอิรักต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษ ชาวชีอะห์ก็ได้รับการสนับสนุนจากมุสลิมสุหนี่ นอกจากนั้น ในปี 1948 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์การก่อจลาจลที่อัล-วัทบะห์ (Al-Wathbah) ชาวสุหนี่-ชีอะห์ ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพระหว่างกันอย่างน่าสังเกต และที่สำคัญก็คือ ในสงครามระหว่างอิรัก-อิหร่าน ระหว่างปี 1980-1988 ชาวชีอะห์จำนวนมากกลับยืนอยู่ข้างซัดดัม ฮุสเซน ร่วมกันต่อต้านชีอะห์อิหร่าน ส่วนในทางสังคมก็เช่นกัน ถึงแม้ว่าชาวสุหนี่-ชีอะห์จะมีความแตกต่างกันบ้างทางหลักการศาสนา แต่ในทางปฏิบัติกลับปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันตลอดช่วงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอิรัก ดูได้จากการที่แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือรายงานไว้ว่า การแต่งงานในอิรักจนถึงปี 2003 หรือจนถึงวันที่สหรัฐเริ่มเข้ามารุกรานอิรัก ปรากฏว่าร้อยละ 30 เป็นการแต่งงานระหว่างสุหนี่กับชีอะห์ ความสัมพันธ์ดีๆ ระหว่างสุหนี่กับชีอะห์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อสหรัฐและติพันธมิตรยกกำลังเข้ามายึดครองอิรัก พวกที่อยู่เบื้องหลังที่ยุยงให้สหรัฐเข้ามายึดครองอิรักต่างมั่นใจว่า ทางเดียวที่จะขจัดอิทธิพลของซัดดัม ฮุสเซน คือการเสริมความเข้มแข็งให้แก่ชนกลุ่มใหญ่ชาวชีอะห์ พร้อมๆ กันนั้นก็ลดอำนาจของชาวสุหนี่ที่เป็นชนกลุ่มน้อย ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าชาวสุหนี่เป็นฐานกำลังสำคัญของซัดดัม อุสเซน นโยบายอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็นนโยบาย แบ่งแยกแล้วปกครอง ตามตำราคลาสสิคของพวกจักรวรรดินิยม สำหรับชาวสุหนี่ในอิรักแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอิรักสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2005 ถือเป็นหายนะทางการเมืองของพวกเขา การเปลี่ยนแปลงประการแรกคือ การผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มอบอำนาจอย่างมากในเรื่องกิจการน้ำมันให้แก่พื้นที่ของชาวเคิร์ดทางตอนเหนือและชาวชีอะห์ทางตอนใต้ของประเทศ ส่วนชาวสุหนี่ซึ่งส่วนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำมันจึงเกิดความรู้สึกสูญเสียผลประโยชน์ การเปลี่ยนแปลงประการต่อมาคือ การเลือกตั้งในเดือนธันวาคม ซึ่งทำให้อำนาจทางการเมืองอิรักตกไปอยู่ในมือของชาวเคิร์ดและชาวชีอะห์ การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของฝ่ายสุหนี่ ฉะนั้น ความโกรธแค้นและความสิ้นหวังของฝ่ายสุหนี่จึงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบาย แบ่งแยกแล้วปกครอง ที่แสดงผลออกมาในรูปของการฆ่าหมู่ในเมืองสะมัรเราะห์ของเดือนกุมภาพันธ์ 2006 นับจากนั้นเป็นต้นมากลุ่มต่างๆ ที่สังกัดอยู่ในกองทัพอิรัก กองกำลังตำรวจ กลุ่มติดอาวุธอิสระและกองพลน้อยกลุ่มต่างๆ จากทั้งที่เป็นสุหนี่และชีอะห์จึงเริ่มใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกัน ความจริง การสำรวจในเดือนกันยายน 2006 ที่ทำโดย World Public Opinion (WPO) น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริงในอิรัก เพราะจากการสำรองดังกล่าวพบว่า ชาวชีอะห์ร้อยละ 74 และชาวสุหนี่ร้อยละ 91 ต้องการให้พวกที่เข้ามายึดครองออกไปจากประเทศภายใน 1 ปี ทั้งมุสลิมสุหนี่และชีอะห์ต่างเชื่อว่า กองกำลังสหรัฐในอิรักเป็นตัวยุยงให้เกิดความรุนแรงมากกว่าที่จะเป็นผู้ที่เข้ามาป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง และพวกเขาเชื่ออีกว่า สถานการณ์ความรุนแรงจะทุเลาเบาบางลง หากพวกที่เข้ามายึดครองประเทศถอยทัพกลับไป

 http://news.sanook.com/scoop/scoop_74796.php  


http://atcloud.com/stories/32498
  •  

88 ผู้มาเยือน, 0 ผู้ใช้